กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
71

มาถึงช่วงนั้นของเดือนกันอีกครั้งละนะครับ ไวเหลือเกินสำหรับ driver อย่างเป็นทางการของการ์ดจอฝั่งค่ายแดงอย่าง AMD เรียกได้ว่ายังใช้รุ่นเก่าไม่พรุนก็มีรุ่นใหม่ออกมาให้ได้เล่นกันทุกเดือนเลย โดยล่าสุด AMD Catalyst 11.8 WHQL ที่เป็นตัวทางการจาก AMD ได้ถูกคลอดออกมาแล้ว ซึ่งตัว driver ก็ครอบคลุมไปทั้งการ์ดจอ AMD (AMD Radeon GPU), APU และชิปเซ็ตที่มีการ์ดจอออนบอร์ดอยู่ด้วย โดยมีฟังก์ชั่นเพิ่มเข้ามาที่เด่นที่สุดคือ การควบรวมเอา AMD Overdrive System ที่ใช้ในการ overclock CPU ไว้คู่กับ GPU overdrive (ใช้ overclock การ์ดจอ) ส่งผลให้เราสามารถ overclock ทั้ง CPU และ GPU ได้จากในตัวโปรแกรม Vision Control Center แค่ตัวเดียว ไม่จำเป็นต้องลงโปรแกรมแยกอื่นให้วุ่นวายอีกต่อไป แต่…มันรองรับแค่บน CPU รุ่น Black Edition ที่ไม่มีการล็อก CPU เท่านั้นนะครับ !!


ในส่วนของ GPU driver ก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมาด้วยเช่นกัน เช่น

•เพิ่มประสิทธิภาพในการแสดงผลให้ดีขึ้น 10% ในเกม Crysis 2 ที่ทำงานบน DirectX 11 ทั้งในกรณีที่ปิด Anti-Aliasing และเปิด Anti-Aliasing ด้วย application
•เพิ่มประสิทธิภาพในการแสดงผลให้ดีขึ้น 8% ในเกม FEAR 3 ที่ทำงานบน DirectX 11 ในโหมดที่เปิด Anti-Aliasing
•เพิ่มประสิทธิภาพในการแสดงผลให้ดีขึ้น 20% ในเกม Call of Duty: Black Ops ทั้งที่ใช้การ์ดจอ GPU เดี่ยวหรือ GPU คู่
•ปรับปรุงโค้ดส่วนของ MLAA (ถ้าสงสัยว่าคืออะไร ตามไปอ่านในบทความเรื่อง MLAA นี้ได้เลยครับ) ทำให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นถึง 30%
ถ้าใครอยากโหลดมาลองก็สามารถเข้าไปเลือกโหลดได้ตามนี้เลยครับ

•Windows 7/Vista 64-bit
•Windows 7/Vista 32-bit
•Windows XP 64-bit
•Windows XP 32-bit


สำหรับโน๊คบุ๊ค ไม่แน่เสมอไปนะครับว่าไดรเวอร์จะสามารถใช้งานได้ เพราะบางรุ่นอาจต้องใช้ไดรเวอร์จากทางฝั่งผู้ผลิตเท่านั้น
ที่มา : Techpowerup
72
ในการนำเสนอของ AMD แก่ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมที่ผ่านไป AMD ได้เปิดเผยถึงแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Deccan ที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้พลังงานน้อยอีกเช่นเคย ซึ่งเรียกได้ว่าจะนำมาตีกับเหล่า Cedar Trail ของ Intel Atom และ VIA Nano โดยตรงเลยทีเดียว โดยพระเอกของแพลตฟอร์มใหม่นี้ก็คือหน่วยประมวลผลแบบ APU ที่มีโค้ดเนมว่า Wichita และ Krishna (ชื่อแรกเป็นชื่อเมืองตามคอนเส็ปของ AMD แต่ชื่อหลังกลับเป็นชื่อเทพในฮินดูซะอย่างนั้น) แน่นอนว่ามันจะมาลงในกลุ่มของเครื่อง ULV desktop และเน็ตบุ๊ค


ในเรื่องของสถาปัตยกรรม AMD ได้เริ่มเข้าสู่ระดับ 28 นาโนเมตรแล้ว ทำให้สามารถจับคอร์ในการประมวลผลแบบ x86-64 แท้ๆใส่ลงไปได้ถึง 4 คอร์ในชิปเดียว (แต่ยังคงเป็นคอร์ Bobcat อยู่นะครับ ยังไม่ใช่คอร์ใหม่) รวมไปถึงยังมีหน่วยควบคุมหน่วยความจำ (Integrated Memor Controller) และแน่นอนว่ายังมีชิปการ์ดจอ AMD Radeon ที่มีความแรงในระดับการ์ดจอแยกติดตั้งมาให้เช่นเคย


แต่จุดที่เด่นที่สุดมันไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ มันอยู่ที่ Wichita และ Krishna จะเป็นชิปรุ่นแรกที่จับ Fusion Controller Hub (FCH) ที่เปรียบเสมือนชิป Northbridge มารวมอยู่ในตัว APU ด้วยเลย จากที่ในปัจจุบันยังคงแยกกันอยู่คนละชิป ซึ่งจะทำให้ในอนาคต เมนบอร์ดจะมีชิปใหญ่อยู่เพียงแค่ชิปเดียวเท่านั้น ไม่มีเรื่องของชิปเซ็ตมาให้ยุ่มย่ามใจอีกดังในปัจจุบัน จึงเรียกได้ว่าชิปทั้งสองรุ่นนี้จะเป็นชิปในตระกูล x86 รุ่นแรกที่เป็นชิปแบบ System-on-chip (SoC) ที่ควบคุมการทำงานเบ็ดเสร็จในตัวอีกด้วย


ส่วนความสามารถก็ยังเพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่นรองรับแรม DDR3-1600, รองรับ SIMD boost รวมไปถึงมีฟังก์ชัน Secure Asset Management Unit (SAMU) อีกด้วย โดยเราจะได้พบกับแพลตฟอร์ม Deccan ในปีหน้านี้แน่นอน


ที่มา : Techpowerup, Donaimhaber
73

ในที่สุด AMD ก็เปิดตัว APU รุ่นกินไฟต่ำรุ่นใหม่ออกมาแล้วครับ นั่นก็คือ E-450, E-300 และ C-60 นั่นเอง ทั้งนี้ตัวคอร์ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของแพลตฟอร์ม Bobcat อยู่อย่างเช่นรุ่นเดิมที่ออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนที่เหมือนกันของทั้ง 3 รุ่นคือจำนวนคอร์ ที่ยังคงเป็น 2 คอร์เช่นเดิม และรองรับแรมแบบ Single Channel DDR3-1333 ในตัว ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละรุ่นมีดังนี้ครับ

E-450
•ตัวท็อปสุดใน 3 รุ่นที่ออกมาพร้อมกัน
•ความเร็วอยู่ที่ 1.65 GHz
•GPU ใช้เป็น AMD Radeon HD 6320 ความเร็ว 508 MHz และสามารถเพิ่มความเร็วด้วยเทคโนโลยี TurboCore ได้เป็น 600 MHz
•กินไฟ 18W

E-300
•ความเร็วอยู่ที่ 1.30 GHz
•GPU เป็น AMD Radeon HD 6310 เหมือนรุ่นเก่า โดยทำงานที่ความเร็ว 488 MHz
•ไม่มีเทคโนโลยี TurboCore
•กินไฟ 18W

C-60
•ความเร็วอยู่ที่ 1.0 GHz แต่สามารถใช้เทคโนโลยี TurboCore ทำให้ความเร็วเพิ่มเป็น 1.33 GHz ได้
•ใช้ GPU เป็น AMD Radeon HD 6290 ความเร็ว 276 MHz แต่เพิ่มความเร็วได้เป็น 400 MHz ด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน
•กินไฟแค่ 9W เท่านั้น


ซึ่งใน GPU ของทั้ง 3 รุ่นจะมีจำนวนของ Stream Processor (เปรียบเสมือนคอร์ในการประมวลผล) อยู่ที่ 80 หน่วย และแน่นอนว่ารองรับ DirectX 11 อีกด้วย ส่วนใครอยากนำไปใช้ต่อกับทีวีเพื่อรับชมภาพยนตร์ละก็ไม่ผิดหวังแน่ๆ เพราะมันรองรับ HDMI มาตรฐาน 1.4a นอกจากนี้ก็ยังรองรับพอร์ต DisplayPort รวมไปถึงพอร์ตเก่าอย่าง DVI และ VGA ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่างหาก นับว่าจัดหนักจริงๆครับ AMD ช่วงนี้

ที่มา : Techpowerup
74

หลังจาก AMD รวมไปถึงบรรดาผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คทำการปล่อย Fusion APU ออกมาทำตลาดทั่วโลก ก็พบว่ายอดขายที่ดี รวมไปถึงความต้องการตัว APU มีสูงแทบจะเกินกว่ากำลังผลิตแล้ว ทำให้ AMD เล็งที่จะจ้างโรงงานผลิต APU เพิ่ม โดยจากรายงานของเว็บ CENS ให้ข้อมูลไว้ว่า AMD กำลังดำเนินการเจรจากับโรงงาน Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ที่เป็นโรงงานรับผลิตชิปแหล่งใหญ่ในละแวกเอเชียเลยทีเดียว

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการประสบความสำเร็จของตัว APU ซึ่งในไตรมาสที่ 3 นี้ กำไรสุทธิของ AMD พุ่งขึ้นจาก 8% เป็น 12% ส่วนในเรื่องของกำไรก็เพิ่มขึ้นมาถึง 2 เท่าจากไตรมาสก่อน และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากผู้ผลิตโน๊ตบุ๊ครายใหญ่อย่าง Acer, ASUS, Dell และ Quanta ได้เริ่มสั่งซื้ัอ APU เพิ่มเติมและยังพร้อมที่จะวางจำหน่ายโน๊ตบุ๊คที่ใช้ AMD Fusion APU เพิ่มเติมอีกด้วย

ที่มา : Notebookcheck
75
ใครว่า APU ตอนนี้เล่นเกมได้แรงอยู่แล้ว อยากบอกว่ายังมีแรงกว่านั้นอีกครับ โดยในงานสาธิตการทำงานของ APU รุ่นใหม่จาก AMD ที่เปลี่ยนไปใช้คอร์แบบ Piledriver (ก็คือคอร์แบบ Bulldozer ในรุ่น desktop ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอด) สามารถรันเกม Deus Ex ได้ (แต่ไม่มีรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เช่นรันได้ดีขนาดไหน หรือสเปกเครื่องก็ไม่มีบอกเช่นเดียวกัน แต่คาดว่าน่าจะใช้งานการ์ดจอใน APU เองเป็นตัวรันเกม)

ซึ่งคุณสมบัติคร่าวๆของ APU รุ่นนี้ที่มีโค้ดเนมว่า Trinity ก็ยังไม่มีออกมามาก ที่พอจะทราบก็มีแค่

•รองรับแรม DDR3
•GPU ภายในรองรับ DirectX 11
•ผลิตในสถาปัตยกรรมระดับ 32 nm
•เปลี่ยนไปใช้ socket แบบ FM2
•ได้เจอกับ Trinity ในทั้ง notebook และ desktop แน่นอน
โดยคาดว่าเราน่าจะได้เห็นตัวเป็นๆในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้าแน่นอน อดใจรอไว้ได้เลยครับ


ถ้าอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ Trinity ละก็ ตามไปอ่านข่าวเก่าข่าวนี้ได้เลยครับ

ที่มา : TCMagazine
76

ยังคงก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งสำหรับค่ายแดงอย่าง AMD โดยล่าสุด ในงานนำเสนอความคืบหน้าภายในของทาง AMD ได้มีภาพหลุดมาให้เราได้เห็นกัน โดยส่วนที่เป็นไฮไลท์ก็คือ AMD Fusion APU ในตระกูล A ที่จะมีออกมาในปีหน้านี้แล้ว รายละเอียดคุณสมบัติเป็นอย่างไร ไปดูกันเลยครับ

•เปลี่ยนชื่อจากตระกูล Llano ไปเป็น Trinity
•ผลิตในสถาปัตยกรรม 32 nm และเปลี่ยนไปใช้ High-K metal gate transistor (HKMG) เหมือนกับใน Sandy Bridge ของ Intel
•คอร์เปลี่ยนจากแบบ Bobcat เป็นตระกูล Piledriver
•มีทั้งสำหรับ notebook และ desktop โดยในรุ่นของ notebook จะมีโค้ดเนมว่า Comal ส่วนในรุ่นสำหรับ desktop ก็จะมีโค้ดเนมว่า Virgo
•พลังในการประมวลผลสูงกว่ารุ่นเดิมถึง 50% (วัดด้วยจำนวน GigaFLOP ที่ประมวลผลได้ในช่วงเวลาหนึ่ง)
•กราฟิกชิปในตัวเปลี่ยนไปใช้เป็น AMD Radeon HD 7000 Series
•สถาปัตยกรรมของ stream processor เปลี่ยนไปใช้ VLIW4 ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งเจ้าคอร์แบบ Piledriver นี้ จะใช้หลักการแชร์ทรัพยากรในการประมวลผลเช่นเดียวกับ CPU ตระกูล Bulldozer สำหรับเครื่อง desktop อีกด้วย แถมยังมีการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิมขึ้นไปอีก

นับว่าน่าสนใจเลยทีเดียวครับ ว่าในปีหน้าตลาดการแข่งขันจะเป็นอย่างไร, APU จะแรงจริงหรือไม่ และ Intel จะเอาอะไรมาสู้ ต้องมาคอยดูกันครับ

ที่มา : Notebookcheck
77

วันนี้ อินเทล คอร์ปอเรชัน ได้ประกาศความร่วมมือครั้งใหม่กับกูเกิล* โดยตั้งเป้าในการเข้าสู่ธุรกิจสมาร์ทโฟนของ อินเทล พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้เปิดเผยอีกว่า ทีมวิศวกรของอินเทลกำลังพัฒนาระบบจัดการพลังงานสำหรับแพลตฟอร์มแบบใหม่เพื่อใช้กับอัลตร้าบุ๊ก™ เพื่อทำให้ระบบประมวลผลสามารถรองรับไลฟ์สไตล์การใช้งานอุปกรณ์ที่ต้องการการเชื่อมต่อตลอดเวลา

พอล โอเทลลินิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอินเทล แถลงในช่วงเปิดงานอินเทล ดิเวลลอปเปอร์ ฟอรัม (ไอดีเอฟ) ณ เมืองซานฟรานซิสโก โดยกล่าวว่า “ระบบประมวลผลมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา” พร้อมกับอธิบายถึงโอกาสและความท้าทายต่างๆ ที่รออินเทลกับอุตสาหกรรมไอทีอยู่ข้างหน้าว่า “ความต้องการด้านประสิทธิภาพของการประมวลผลอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปจนถึงระบบคลาวด์ ที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนั้น คือโอกาสสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมไอที ซึ่งอินเทลได้มีการทำงานร่วมกับเหล่าพันธมิตรเพื่อนำเสนอรูปแบบการประมวลผลที่เหมาะสมกับการใช้อุปกรณ์โมบายล์มากขึ้น มีความปลอดภัยและใช้งานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ผมรู้สึกตื่นเต้นกับประสบการณ์รูปแบบใหม่ๆ ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับอุปกรณ์ได้หลากหลายชนิดนี้มาก และนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของเราเท่านั้น”


การเติบโตของธุรกิจในตลาดใหม่ๆ
เมื่อกล่าวถึงเป้าหมายขององค์กรซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจของอินเทลในตลาดอุปกรณ์ประมวลผลนั้น โอเทลลินิได้พูดคุยถึงความพยายามล่าสุดของบริษัทในการรุกเข้าสู่ธุรกิจ สมาร์ทโฟน โดยได้สาธิตให้เห็นถึงดีไซน์หลักของอุปกรณ์ที่ใช้อินเทล™ อะตอม™ โปรเซสเซอร์ และทำงานบนแพลตฟอร์มของแอนดรอยด์™

โอเทลลินิ ยังได้แนะนำ แอนดี้ รูบิน รองประธานอาวุโสกลุ่มโมบายล์ของกูเกิล* โดยผู้บริหารทั้งสองได้อธิบายถึงแผนการที่จะใช้ประโยชน์จากการเปิดตัวของแพลตฟอร์มแอนดรอยด์™ อย่างเต็มที่สำหรับชิปอินเทลในตระกูลของ อะตอม โปรเซสเซอร์ รุ่นกินไฟต่ำ การร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเร่งให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทลและทำงานบนแพลตฟอร์มของแอนดรอยด์สามารถออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

“ความร่วมมือระหว่างเรากับกูเกิลจะทำให้ตลาดมีอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมทั้งสมรรถนะและคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมของเรามีนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ปรับปรุงใหม่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้กับตลาดมากขึ้น ผมรู้สึกตื่นเต้นกับความร่วมมือของเราที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะจะทำให้ลูกค้าของเราสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภค ออกสู่ตลาด ด้วยพลังสมรรถนะที่ผสานกันระหว่างเทคโนโลยีอินเทลและแพลตฟอร์มแอนดรอยด์” โอเทลลินิ กล่าวเสริม


ลดข้อจำกัดของการดึงพลังงานที่มีอยู่ในระดับต่ำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมสำหรับ อัลตร้าบุ๊กTM และอุปกรณ์อื่นๆ


โอเทลลินิคาดการณ์ว่า อัลตร้าบุ๊กจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่มีรูปแบบการประมวลผลที่สมบูรณ์แบบและผู้บริโภครู้สึกพึงพอใจสูงสุด โดยในขณะนี้ อินเทลได้ร่วมงานกับพันธมิตรต่างๆ ในอุตสาหกรรมไอที เพื่อนำอัลตร้าบุ๊ก ซึ่งมีน้ำหนักและขนาดที่บางและเบากว่าเดิม ออกจำหน่ายในราคาตลาดได้ตั้งแต่ช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีนี้เป็นต้นไป

ซีอีโอของอินเทลกล่าวว่า วิศวกรของอินเทลได้เตรียมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่สำหรับอัลตร้าบุ๊ก รุ่นถัดไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 22 นาโนเมตร ที่ใช้ชื่อว่า “ไอวี่ บริดจ์” (Ivy Bridge) ในราวต้นปีหน้า ควบคู่กับการนำทรานซิสเตอร์ 3 มิติ แบบไตร-เกท ของอินเทลเข้ามาในระบบการผลิตด้วย

นอกจากนี้ โอเทลลินิ ยังได้เน้นย้ำถึงการทำงานที่เกื้อหนุนกัน ระหว่างอินเทลและไมโครซอฟท์ พร้อมทั้งระบุว่า ในอนาคต Windows 8 จะปรากฏโฉมอยู่บนอุปกรณ์ต่างๆ ทั้ง แท็บเบล็ต อุปกรณ์ไฮบริด และอุปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่น อัลตร้าบุ๊ก อีกด้วย

การพัฒนาระบบจัดการพลังงานสำหรับแพลตฟอร์มแบบใหม่ เพื่อใช้กับชิป “แฮสเวลล์” ในปี 2556 สำหรับอัลตร้าบุ๊ก เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่โอเทลลินิเปิดเผยในงานไอดีเอฟครั้งนี้ โดยเขาคาดว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีซิลิกอนและงานวิศวกรรมแพลตฟอร์มจะช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานได้มากกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันถึงกว่า 20 เท่าในช่วงที่เครื่องเปิดไว้แต่ไม่ได้มีการใช้งาน โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพการประมวลผลลดลง โอเทลลินิคาดว่า ผลงานการออกแบบใหม่ชิ้นนี้ เมื่อผนวกกับความร่วมมือที่ได้รับจากอุตสาหกรรม จะทำให้แบตเตอรี่สามารถสแตนด์บายการใช้งานได้นานกว่า 10 วันภายในปี 2556 ความก้าวหน้าดังกล่าวจะเข้ามารองรับการทำงานของอัลตร้าบุ๊ก เพื่อให้ระบบประมวลผลสามารถใช้งานและเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา แม้ในขณะที่อุปกรณ์อยู่ในโหมดสแตนด์บาย เพื่อรับทราบข้อมูลที่อัพเดทล่าสุดจากอีเมล์ ข่าวสารผ่านเครือข่ายทางสังคม และดิจิตอลคอนเทนท์ต่างๆ เมื่อกลับมาใช้งาน

เมื่อมองไปในอนาคต โอเทลลินิคาดว่า นวัตกรรมของระบบจัดการพลังงานรุ่นใหม่จะมีการพัฒนาไปไกลจนถึงระดับที่เราไม่อาจจินตนาการได้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ นักวิจัยของอินเทลได้มีการคิดค้นชิปที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์ ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าแสตมป์ มาใช้ได้ ซึ่งอินเทลเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “Near Threshold Voltage Core” โดยการค้นพบนี้จะขยายขีดความสามารถของเทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ให้สูงขึ้น เพื่อปรับระดับการใช้พลังงานให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ เมื่อมีการใช้งาน

ระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์ประมวลผลนับพันล้านเครื่องในอนาคต


ในงานไอดีเอฟปีนี้ แคนเดซ วอร์ลีย์ รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของ Endpoint Security ของบริษัทแมคอาฟี ได้ร่วมบรรยายบนเวทีกับโอเทลลินี โดยได้อธิบายว่า อินเทลและแมคอาฟี ได้ร่วมงานกันพัฒนาฮาร์ดแวร์ใหม่ที่จะเสริมระบบการรักษาความปลอดภัยของซอฟต์แวร์

ผู้บริหารทั้งสองยังย้ำว่า การลงทุนและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านระบบรักษาความปลอดภัย เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการต่อไป เพราะคาดว่าในอนาคตจะมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านชิ้นเลยทีเดียว

วอร์ลีย์ ยังได้กล่าวถึงเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นใหม่ของแมคอาฟีที่ชื่อ DeepSAFE ว่าเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ทำงานร่วมกับคุณสมบัติต่างๆ ของฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่ในอินเทล™ คอร์™ โปรเซสเซอร์ ทั้งสามรุ่น คือ i3, i5 และ i7 โดยที่เทคโนโลยี DeepSAFE จะช่วยให้การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการปฏิบัติงานภายใต้ระบบปฏิบัติการอีกด้วย เทคโนโลยีนี้จะได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้ผลิตภัณฑ์รักษาความปลอดภัยระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ของ แมคอาฟีภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ โอเทลลินิ ยังประกาศว่า อินเทลจะทำงานร่วมกับแมคอาฟีในด้านโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมระบบประมวลผลอย่างรอบด้าน นับตั้งแต่อุปกรณ์เอ็มเบดเด็ดไปจนถึงระบบคลาวด์

รูปแบบการทำงานร่วมกันที่ทำได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คล่องตัวและราบรื่น


ในขณะที่ระบบประมวลผลยังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โอเทลลินิเน้นย้ำถึงความจำเป็นของรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คล่องตัวและราบรื่น และการที่จะทำให้วิสัยทัศน์นี้เป็นจริงได้ อินเทลจึงได้มีการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ สำหรับอุปกรณ์หลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงอัลตร้าบุ๊กและคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้ในลักษณะออลอินวัน โดยโอเทลลินิ ได้สาธิตภายในงานถึงคุณสมบัติใหม่ๆ เหล่านี้ ซึ่งจะมีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเอเซอร์* เลอโนโว* และโตชิบา* ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีนี้ด้วย

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่นำมาสาธิตในการบรรยายครั้งนี้ กรุณาเข้าไปดูได้ที่ www.intel.com/newsroom/idf
78

ในช่วงสัปดาห์นี้ Intel มีแผนที่จะปล่อย CPU รุ่นใหม่ลงทั้งในกลุ่มของ desktop และกลุ่ม mobile (ในโน๊ตบุ๊ค) ถึง 16 รุ่นด้วยกัน แต่เราจะมาพูดถึงแค่ในกลุ่มของ mobile นะครับ จะมีรุ่นไหนบ้าง ไปดูกัน

Intel Core i7-2960XM
•4 cores 8 threads
•Speed 2.70 GHz
•Turbo Boost up to 3.70 GHz
•ไม่ล็อกตัวคูณ (สามารถ overclock ได้)
•เป็น CPU รุ่นที่แรงที่สุดในกลุ่ม mobile
•L3 Cache 8MB
•Intel HD Graphics 3000
•รองรับแรม DDR3-1333
•TDP 55W
•ราคาราว 33,000 บาท

Intel Core i7-2860QM
•4 cores 8 threads
•Speed 2.50 GHz
•Turbo Boost up to 3.60 GHz
•L3 Cache 8MB
•Intel HD Graphics 3000
•รองรับแรม DDR3-1333
•TDP 45W
•ราคาราว 17,000 บาท

Intel Core i7-2760QM
•4 cores 8 threads
•Speed 2.40 GHz
•Turbo Boost up to 3.50 GHz
•L3 Cache 6 MB
•Intel HD Graphics 3000
•รองรับแรม DDR3-1333
•TDP 45W
•ราคาราว 12,000 บาท

Intel Core i7-2640M
•2 cores 4 threads
•Speed 2.80 GHz
•Turbo Boost up to 3.50 GHz
•L3 Cache 4 MB
•Intel HD Graphics 3000
•รองรับแรม DDR3-1066/1333
•TDP 35W
•ราคาราว 11,000 บาท

Intel Celeron B840
•2 cores
•ไม่มี Hyper Threading
•Speed 1.90 GHz
•L3 Cache 2 MB
•Intel HD Graphics
•ราคาราว 2,600 บาท

หรือถ้าอยากดูแบบง่ายๆ ก็ในตารางนี้เลยครับ

และถ้าใครสนใจ CPU ในกลุ่มของ desktop ก็ตามในภาพด้านล่างนี้ครับ


ที่มา : Notebookcheck, Techpowerup
79

ยังแรงกันไม่พอครับ สำหรับ CPU ในตระกูล Core i7 จากสถาปัตยกรรม Sandy Bridge โดยล่าสุด Intel ได้เปิดตัว CPU รุ่นใหม่สำหรับโน๊ตบุ๊คออกมา นั่นคือ Intel Core i7-2640M ซึ่งจะกลายเป็น  CPU 2 คอร์ที่เร็วที่สุดไปในทันที ซึ่งคุณสมบัติก็มีดังนี้

•ความเร็ว 2.80 GHz และสามารถเพิ่มความเร็วด้วยเทคโนโลยี Turbo Boost เพื่อเพิ่มความเร็วได้เป็น 3.30 GHz (ทำงาน 2 คอร์) และ 3.50 GHz (ทำงาน 1 คอร์)
•มี 2 คอร์ 4 เธรด
•L3 Cache 4 MB
•Max TDP 35W
•การ์ดจอในตัวเป็น Intel HD Graphics 3000
•รองรับแรม DDR3-1066/1333 ได้สูงสุด 8 GB
•ราคาเริ่มต้นเฉพาะ CPU อยู่ที่ราวๆ 11,000 บาท
•ประสิทธิภาพ น่าจะใกล้เคียง i7-820QM ในเครื่อง desktop
ประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับเครื่องอื่นจะเป็นอย่างไร ลองไปดูกัน




ที่มา : Notebookcheck
80

หลังจากปล่อยให้ Apple นำพอร์ต Thunderbolt ไปใช้หากินอยู่นาน ล่าสุดในงาน IDF 2011 (งาน Intel Developer Forum) ทาง Mooly Eden รองประธานและผู้จัดการทั่วไปฝ่าย PC Client Group ของ Intel ได้ขึ้นเวทีมาสาธิตเครื่อง ultrabook ซึ่งใช้ CPU เป็น Intel Core i3 gen 3 (ยังไม่ออก) เป็นหลักในการประมวลผล พร้อมกันนั้นยังกล่าวเปิดตัวพอร์ต Thunderbolt ที่จะมาอยู่ในแพลตฟอร์ม PC อีกด้วย

ทั้งนี้ยังไม่มีกำหนดการออกมาว่าจะเริ่มติดตั้งในช่วงใด ก็หวังว่าคงจะมาภายในปีหน้าละนะ


ที่มา : Engadget
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9